Fender Harvard Amp (ออกเสียงว่า "ฮ้าร์เวิร์ด")
Brand Name: Fender
Model Name: Harvard (narrow panel type)
Circuit Number: 5F10
Speaker: 10" Blue Jensen "Special Design" 220935/P10R/C5888-6 (approx. September 1959)
Power Transformer: TRIAD #6-6079-B
Output Transformer: #125A15 606020
Power Tubes: (2x) 6V6GT
Preamp Tubes: 6AT6 and 12AX7
Rectifier Tube: 5Y3GT
Chassis: Serial #H-03451
Cabinet: Production #20, JJ (October 1960), Initialed by "EB" twice on the right hand panel & back of the baffle board
นี่เป็นแอมพ์ที่เขาให้มาหลายสิบปีแล้วสมัยน้องบางคนยังไม่เกิด...หรือยังไม่รู้จักคำว่า "vintage amps", "vintage guitars" หรือ "pre-CBS" อะไรต่ออะไร....ฯลฯ อย่างทุกวันนี้.
ก็เอารายละเอียด (อย่างย่อๆ) ของแอมพ์ตัวนี้ที่ผมได้บันทึกไว้นานมาแล้ว มาให้ดู (ตอนนั้นยังไม่มีหนังสือมาใ้ห้อ่านหรืออ้างอิง ลำบากมาก แต่สนุกดี) มีรูปมาให้ดู ๓ รูป แอมพ์เครื่องนี้ไม่ใช่เป็นแอมพ์ที่่น่ารักจุ๋มจิ๋ม (so cute!), หายาก (scarce) หรือว่าจะมีคุณค่าทางศิลปะ (artistic value) ของความพิถีพิถัน ปราณีตบรรจง ในฝีมือของการสลักลวดลาย ลงคราม เลี่ยมทอง แบบเครื่องทรงลิเก, รามเกียรติ์ หรือสามก๊ก อะไรยังงั้นหรอก...เฮ้อ!. มันเป็นแอมพ์ขนาดเล็ก แต่เป็นแอมพ์รุ่นเก่าที่มีสภาพดี, เสียงก็ฟังใช้ได้ อย่างจะไม่ขายหน้าเลย ไม่ว่าจะเป็นในวันนี้หรือวันหน้า (timeless).....และประวัติที่ได้มาก็น่าสนใจเพราะมันมีคุณค่ากับทางด้านความรู้สึกส่วนตัว (sentimental value). ก็เท่านี้เองนะครับ!...จบแค่นี้...... แต่ว่าถ้าตอนนี้พวกน้องๆไม่มีอะไรทำ..ไม่รีบร้อนไปไหน นั่งจิบเบียร์ ดื่มกาแฟ หรือฝนกำลังตกหนัก ก็น่าจะอ่านต่อไปอีกนิด เพื่อเป็นการฆ่าเวลา. บางที..บางคน..บางครั้ง.. อาจจะเรียนรู้อะไรได้บ้างนิดหน่อย กับของเก่าไม่ทันสมัยอย่างนี้..ก็ไม่แน่น๊ะ!
---------------------------------------------------
เรื่องมันมีอย่างนี้:
ตอนปี ค.ศ. ๑๙๗๖-๑๙๗๗ เล่นดนตรีอยู่ในคลับ (USA) อย่างอาทิตย์ละ ๘ วัน มีเพื่อนคนนึงอายุประมาณ ๓๐ ปี แกก็ชอบเข้ามาร้องเพลงกับวงบ่อยๆ แกมีกีต้าร์ Martin เอามาเล่นเองด้วย เจอกันก็คุยกันทุกครั้ง วันนึงเราก็คุยกันกับเรื่องกีต้าร์ แกก็เอ่ยว่าแกชอบเล่น acoustic แต่แกชอบเสียงกีต้าร์ไฟฟ้าตัวที่ผมเอาไปเล่นเฉพาะวันนั้น ผมก็ถามว่าทำไมไม่เล่นกีต้าร์ไฟฟ้าบ้างละ ถ้าอยากจะเอา ผมจะขายให้ตัวนึงอย่างถูกๆ เขาบอกว่าขอบคุณ เงินน่ะเขามี แต่เขาไม่ชอบเล่นกีต้าร์ไฟฟ้า และหลานสะใภ้้ของเขามี Fender Telecaster ด้วย. ผมถามว่ากล่องกีต้าร์ของหลานสะใภ้้นั้นมันเป็นสีอะไร เขาตอบว่าเป็นสี chocolate ผมก็บอกเขาว่า ถ้าหลานสะใภ้้เขาจะขายก็บอกผมด้วย และผมก็ให้เบอร์โทรศัพท์ไว้ให้กับเขาอย่างเป็นกิจลักษณะ วันรุ่งขึ้นเขาโทรไปหาผมที่บ้าน บอกข่าวดีว่า หลานสะใภ้้ของเขาอยากจะขายกีต้าร์ตัวนั้น และเธอจะตามเข้ามาที่คลับตอนสี่ทุ่ม
พอเธอเข้ามา เราก็เชิญทั้งครอบครัวให้ขึ้นมาร้องเพลงกัน เพราะวันนั้นเป็นวันอาทิตย์ jam session..พอถึงตอนเวลาพัก พวกเราทั้งหมดก็ไปคุยกันในที่จอดรถ เธอก็ไปที่ท้ายรถ ยกเอากีต้าร์ออกมาให้ดู ผมถามว่าจะเอาเท่าไหร่ เธอถามผมว่า Telecaster ตัวใหม่เอี่ยมตอนนั้นราคาเท่าไหร่ ผมบอกว่า ประมาณ $๒๗๕-๓๕๐ เธอบอกว่าถ้ายังงั้นเธอก็ขอแค่ $๑๒๕ เพราะมันเป็นของใช้แล้ว และเธอก็ไม่มีเวลาเล่น เพราะต้องไปเรียนหนังสือต่อใน มหาวิทยาลัย ผมก็บอกเธอว่า ราคาตลาดตอนนั้นมันสูงกว่านั้นมาก...แต่เธอก็ไม่เปลี่ยนใจ ขอแค่ $๑๒๕ เท่านั้น ผมก็เดาว่าเธอคงเป็นลูกคนรวย หรือว่าเธอคงจะชอบขี้หน้าผมก็อาจจะเป็นได้ จึงอยากจะให้ผมเก็บกีต้าร์ไว้ ผมก็คิดไว้ในใจว่า "เออ! เราจะไปเอาเปรียบเด็กมันใด้ยังไง รวยหรือไม่รวย ที่เมืองนอก เด็กมันจะต้องใช้เงินในมหาวิทยาลัยและต้องทำงาน เหมือนกันทุกคน" (ไม่สบายเหมือนกับบ้านเรา ) ผมก็เลยบอกว่า ผมไม่มีใบย่อย แล้วก็ยื่นใ้ห้เธอไปสามใบ ($๓๐๐) แต่เธอไม่ยอมรับหมด คืนเงินมาให้ผมใบนึง กีต้าร์ตัวนั้นมันเป็น ๑๙๖๐ Fender Telecaster สีขาว มีพิ๊คการ์ดสีขาว สภาพเหมือนใหม่เลย คุณพ่อของเธอส่งมาให้จาก American Samoa เผื่อว่าเธอจะมีเวลาเล่นได้บ้างที่โบสถ์.
หลังจากนั้นผมก็ขึ้นไปเล่นบนเวทีอีก..พอหยุดพักอีกที..ก็เห็นเธอหิ้วแอมพ์เดินเข้ามาหาผมและบอกผมว่า เธออยากจะให้ผมเก็บแอมพ์ Fender ไว้ด้วย ผมถามว่าทำไมละ่ เธอบอกว่าเพราะว่าผมใจดีและ sincere ต่อเธอ เหมือนกับพวกพี่น้องของเธอที่ American Samoa และแอมพ์นั่นมันก็เป็นคู่หูกับกีต้าร์ตัวนั้นตั้งแต่คุณพ่อของเธอซื้อมาใหม่เอี่ยม. เธอก็เลยขับรถกลับไปบ้านหิ้วแอมพ์ Fender Harvard มาให้ผมที่คลับเพื่อเป็นการตอบแทน... (ผมคิดว่า พ่อแม่ของเธอคงจะเป็นคนดีมี class และคงจะอบรมให้ลูกสาว บูชาน้ำใจ ไม่ใช่น้ำเงิน). หลังจากคืนนั้น ผมก็ไม่เห็นหน้าเธออีกเลย แต่ยังจำหน้าเธอได้ และเธอก็ร้องเพลงเสียงดีด้วย พี่เขยของเธอได้บอกผมว่า เธอเป็นเด็กลูกครึ่งฝรั่งมาจาก American Samoa และมีเชื้อสายเป็นพวก Princess อะไรอย่างนั้นแหละ....เรื่องจริง ๑๐๐%
กีต้าร ์ Telecaster ตัวนั้นปล่อยไปนานแล้ว แต่แอมพ์ Fender Harvard ตัวนี้ผมเก็บไว้้เพื่อเป็นข้อเตือนใจ กับข้อคิดที่ว่า "คิดดี ทำดี จะได้ดีหรือไม่ก็ไม่ค่อยแน่ใจแต่ จะสบายใจดี"
Philosophy?, Science?, Karma?, Deja Vu?, or Whatevers! (Who knows?)
--------------------------------------
NOTE:
๑) เออ...พูดถึงเรื่อง philosophy ผมก็ไม่อยากจะยุ่งเพราะ philosophy มันเป็นเรื่องที่ วกเวี้ยว วนเวียน วุ่นวาย และ เวิ้งว้าง วาวแวว แวววับ วับวาบ วาบแวบ แวบวับ วาววาม วูบวาบ ทำให้ วอกแวก วิงเวียน ว้าวุ่น วู่วาม หวั่นหวาด โว้เว้ โวยวาย อย่างวันวาน ในวิวาห์ ที่หวานแว๋ว ของวงศ์วาน ที่วิงวอน ให้วิ่งวุ่น อย่างว่องไว ไม่เว้นว่าง แล้วไหว้วอน ให้เวียนว่าย อย่างวัดเหวี่ยง ในวงแหวน ของวงเวียน ที่เว้าแหว่ง จนวอดวาย เหมือนวิ่งวัว มีวี่แวว ที่ว้าเหว่ และวังเวง......... ตะลุง ตุ้งแช่!!!!
เขียนมายาวเยื้อยก็ติดลมบน...คันไม้คันมือ ..ก็อยากจะลองของ ให้ความสุขแก่ตัวเองซะหน่อย ถึงว่ามันจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องแอมพ์เลย แต่คงจะไม่เป็นอาญา ถึงกับติดคุกหรอกนะ. เกิดมารักภาษาไทยตอนแก่ แต่นี่ก็ไม่ได้เปิด "พจนานุกรม" ด้วยเลยนะ.
๒) วันดีคืนดี ถ้าผมเจอรูปถ่ายของกีต้าร์ Telecaster เก่า ตัวนั้น ผมจะโพสท์เพิ่มเติมมาให้ชมกัน, ไม่แน่ใจว่าเป็นรุ่นปี ๑๙๖๐ หรือ ๑๙๖๑ แต่จำได้ว่า มันมี slab Rosewood fingerboard และสีขาวก็เป็นแบบขาวจั๋วเลย
๓) ยังมีแอมพ์อีก ๒-๓ เครื่อง ชนิด boutique amp ที่เพื่อน (คนที่ไม่จนด้วยน้ำใจ) ให้มา: Dr Z, Kelly Amp, ฯลฯ แล้วผมอาจจะเขียนต่อเติมมาอีกถ้ามีใครสนใจ.